วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้จักกับเทคโนโลยี LightScribe

ในปัจจุบันไดร์วเขียนดีวีดีรอมได้รับความนิยมอย่างสูง อีกทั้งแผ่นดีวีดีก็มีราคาถูกลงมาก ทำให้มีความต้องการในการเขียนแผ่นเป็นจำนวนมาก และสิ่งหนึ่งที่ใช้ในการแยกแยกข้อมูลในแต่ละแผ่นคือการเขียนป้าย (Label) ติดลงบนแผ่น ซึ่งใช้การเขียนด้วยลายมือโดยใช้ปากกาเขียนแผ่นซีดี ซึ่งหากเก็บไว้ใช้เองที่บ้านหรือไรท์แผ่นในหมู่เพื่อนฝูงก็คงไม่ใช่ปัญหา หากต้องการทำแจกเป็นงานเป็นการก็อาจจะต้องจ้างสกรีนแผ่น หรือใช้พรินเตอร์รุ่นที่มีความสามารถในการพิมพ์ลายลงบนแผ่นซีดีหรือดีวีดี หากเจ้า LightScribe กลายมาเป็นพระเอกในการสร้างสรรค์ลวดลายลงในแผ่นก็จะดีไม่น้อย เพราะแผ่นซีดีที่เขียนด้วยปากกาก็คงไม่น่าดูนักในการแจกจ่ายเป็นการเป็นงาน วันนี้ผมขอแนะนำพระเอกในการสร้างจินตนาการลงบนแผ่นซีดีหรือดีวีดีให้กับคุณ

รู้จักกับเทคโนโลยี LightScribe


มิติใหม่ของการเขียนลวดลายลงบนแผ่นซีดี/ดีวีดี

คลิกเพื่อดูภาพขนาดจริง


เทคโนโลยี LightScribe นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการสร้างลาเบล (Label) ลงบนแผ่นซีดีหรือดีวีดี โดยใช้เทคโนโลยีในการยิงแสงเลเซอร์ลงบนแผ่นเพื่อสร้างลวดลายตามที่เราต้อง การ โดยไม่ได้ใช้การพิมพ์ลวดลายลงบนแผ่นอย่างพรินเตอร์หรือใช้ปากกาเขียนแผ่น เขียนด้วยลายมือเช่นในสมัยก่อน

คุณสามารถสร้างสรรค์จินตนการของคุณลงบนแผ่น ใส่ภาพนักร้องคนโปรด ชื่ออัลบั้ม ข้อความต่างๆได้จากซอฟต์แวร์สร้างลวดลาย นอกจากนี้ยังให้อิสระในการสร้างลวดลายบนแผ่นซีดีหรือดีวีดีที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนอีกด้วย

ง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น

1. เขียนข้อมูล เพลง ภาพ ด้วยไดร์วที่รองรับเทคโนโลยี LightScribe
2. เมื่อเขียนแผ่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว หยิบแผ่นออกมาจากนั้นหงายกลับด้านแผ่น
3. เขียนลวดลายที่ต้องการลงบนแผ่น โดยจำไว้ว่าใช้ไดร์วเดียวกับที่เขียนข้อมูลลงไป

การทำงานของ LightScribe
ในการทำงานของไดร์วที่รองรับเทคโนโลยี LightScribe นั่น จะใช้เลเซอร์ในการยิงเพื่อทะลุสารเคลือบผิวด้วยความเข้มที่ต่างกัน เพื่อทำลายสารเคลือบและเกิดปฏิกิริยาทำให้แผ่นเป็นลวดลายตามที่ต้องการได้ โดยจะต้องใช้กับแผ่นที่รองรับการเขียนลวดลาย LightScribe เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับแผ่นทั่วๆไปได้

โดยจะมีรูปแบบการจัดวาง 3 รูปแบบคือ
1.Full Mode จะใช้เวลาในการยิงเลเซอร์เพื่อสร้างลวดลายเป็นเวลานาน โดยจะใช้พื้นที่เต็มแผ่น
2.Content Mode ใช้ในการสร้างสรรค์ศิลปะต่างๆในบนขอบแผ่น
3.Title Mode มีเพียงข้อความหรือกราฟิคเล็กๆ โดยในโหมดนี้จะเขียนได้รวดเร็วที่สุด

จำไว้ว่าการเขียนจะเขียนจากจุดศูนย์กลางแผ่นมายังขอบแผ่น หากมีลวดลายขนาดใหญ่ก็จะใช้เวลาในการเขียนนาน

สิ่งจำเป็นที่คุณต้องมี

คลิกเพื่อดูภาพขนาดจริง


สำหรับฮาร์ดแวร์ แน่นอนว่าจะต้องเป็นไดร์วที่รองรับการเขียนลวดลายด้วยเทคโนโลยี LightScribe โดยสังเกตได้จากโลโก้ LightScribe บนกล่องบรรจุไดร์วซีดี/ดีวีดี

นอกจากนี้ยังต้องมีซอฟต์แวร์ในการออกแบบลวดลาย เช่นโปรแกรม SureThing 4SE ที่ให้ดาวน์โหลดฟรี หรือหาโปรแกรมดังต่อไปนี้

> Nero Cover Designer
> Roxio Easy Media Creator
> Sonic Express Labeler
> Surething CD Labeler

และแน่นอนว่าต้องมีแผ่นที่รองรับการเขียนลวดลาย คือแผ่นที่รองรับ LightScribe ด้วย ไม่ใช่ว่าจะเอาแผ่นทั่วๆไปมาเขียนได้ โดยจะเป็นแผ่นสีทองที่ฉาบสารพิเศษไว้ โดยลวดลายจะเป็นสีเทา คล้ายๆกับภาพขาวดำนั่นเอง สำหรับแผ่นแบบสีที่เขียนได้จะต้องหาเอาสักหน่อยและอาจมีราคาสูง โดยในปัจจุบันคุณสามารถหาแผ่นที่รองรับคือแผ่น CD-R, DVD+R และ DVD-R

หากต้องการเพิ่มความเข้มในการเขียนลวดลาย หาดาวน์โหลดยูทิลิตี้ได้จาก http://www.lightscribe.com/support/index.aspx?id=306

ที่นี้คุณก็ทราบถึงเทคโนโลยี LightScribe แล้ว จะได้ไม่งงเวลาไปซื้อไดร์วเขียนแผ่นซีดี/ดีวีดี ว่าเทคโนโลยี LightScribe คืออะไร จากนั้นสนุกกับการออกแบบลวดลายบนแผ่นซีดีได้เก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร

ข้อมูลเพิ่มเติมและอ้างอิงรูปภาพจากเวปไซต์ http://www.lightscribe.com
ที่มา : http://www.pantip.com/tech/article/article.php?id=124